วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

การพัฒนา




“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น. ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจนั้นสูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะสร้างความเจริญยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยาก ล้มเหลวในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗




“...การพัฒนานั้น ได้เป็นภารกิจและนโยบายสำคัญของการปกครองบริหารประเทศของเรามานานพอสมควรแล้ว แต่กระนั้นก็เป็นที่ทราบกันว่า เรายังจะต้องพัฒนาต่อไปอีกมาก. ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่จะปรารภกับทุกท่านว่า การพัฒนาประเทศจะบรรลุผลตามเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบการหลายอย่าง. อย่างแรก ต้องมีคนดี คือมีปัญญา มีความรับผิดชอบ มีความวิริยะอุตสาหะ เป็นผู้ปฏิบัติ. อย่างที่สอง ต้องมีวิทยาการที่ดี เป็นเครื่องใช้ประกอบการ. อย่างที่สาม ต้องมีการวางแผนที่ดี ให้พอเหมาะพอควรกับฐานะ เศรษฐกิจ และทรัพยากรที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงประโยชน์อันพึงประสงค์ของประเทศและประชาชน เป็นหลักปฏิบัติ...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ
วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙




“...การพัฒนาชนบทเป็นงานที่สำคัญ เป็นงานที่ยาก เป็นงานที่จะต้องทำให้ด้วยความสามารถ ด้วยความเฉลียวฉลาด คือทั้งเฉลียวและฉลาด ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิใช่มุ่งที่จะหากินด้วยวิธีการใดๆ ใครอยากหากินขอให้ลาออกจากตำแหน่งไปทำการค้าดีกว่า เพราะว่าถ้าทำผิดพลาดไปแล้วบ้านเมืองเราล่มจม และเมื่อบ้านเมืองของเราล่มจมแล้ว เราอยู่ไม่ได้ ก็เท่ากับเสียหมดทุกอย่าง...”

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่คณะผู้บริหารงานเร่งรัดพัฒนาชนบทระดับผู้ว่าราชการจังหวัด
ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน
วันศุกร์ที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๒






“...คนทุกคน ไม่ว่าชาวกรุงหรือชาวชนบท ไม่ว่ามีการศึกษามากหรือน้อยอย่างไร ย่อมมีจิตใจเป็นอิสระ มีความคิดเห็น มีความพอใจ มีรสนิยม เป็นของตนเอง ไม่ชอบการบังคับ นอกจากนั้น ยังจะมีขนบธรรมเนียม มีแบบแผนในความประพฤติปฏิบัติเฉพาะเหล่าเฉพาะถิ่นอีกด้วย การที่ท่านจะนำสิ่งต่างๆ ไปมอบให้หรือไปแนะนำ สั่งสอนโดยรีบร้อนให้ได้ผลทันใจ บางทีจะรู้สึกว่าขลุกขลักติดขัดไม่น้อย อย่างเช่น จะนำหลักวิชาโภชนาการไปแนะนำคนในชนบทอาจยังไม่ยอมรับ ไม่ยอมบริโภคตามคำแนะนำของท่านทันทีทันใด ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อฟังหรือขัดขืน แต่อาจเป็นการขัดกับความเคยชินและความนิยมของเขาที่มีอยู่ก่อน ท่านไม่ควรให้ปัญหาอย่างนี้ เป็นสาเหตุให้เกิดความไม่พอใจ ขัดใจ หรือท้อถอยขึ้น เพราะจะทำให้งานทุกอย่างหยุดชะงักและล้มเหลว ควรอย่างยิ่งที่จะต้องอดทดและพยายามทำหน้าที่ต่อไป ด้วยปัญญา ด้วยความปรารถนาดีและความรอยคอบสุขุม เมื่อได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ด้วยความหวังดีและบริสุทธิ์ใจโดยถูกต้องแล้ว ถึงหากจะได้ผลน้อยไป ล่าช้าไปบ้าง ก็ควรจะพอใจแล้ว คนทุกคน ตมปรกติย่อมมีความจริงใจเชื่อใจในกันและกัน ถ้าท่านปฏิบัติงานปฏิบัติตนถูกต้องโดยความบริสุทธิ์ใจและจริงใจต่อผู้อื่นแล้ว จะทำงานให้บรรลุความสำเร็จได้แน่นอน...”




พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร และอนุปริญญาบัตร
แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล
วันเสาร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๒๐







“....ได้พูดถึงการปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก สองอย่างนี้ต้องทำเข้าคู่กัน ได้ทำตัวอย่างให้ดูที่จังหวัดนครนายก* เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ได้ทำเป็นเขื่อนกั้นน้ำสำหรับชะลอน้ำ ไม่ใช่เขื่อนกั้นน้ำใหญ่ ๆ หรือเขื่อนเล็ก ๆ แต่ว่าเป็นฝายเล็ก ๆ ในบริเวณนั้นมีฝายชะลอน้ำ ๓๕ ตัว แต่ค่าทำฝาย ๓๕ ตัวนี้ คนอาจจะนึกว่า ๓๕ ล้าน ไม่ใช่ ๒ แสนบาททำได้ ๓๕ ตัว ยังไม่ได้เห็น แต่ว่ากล้าที่จะยืนยันว่าได้ผล ถ้าใครสนใจไปดูได้ที่ใกล้บ้านบุ่งเข้ อำเภอบางพลี จังหวัดนครนายก ไปดูฝายชะลอน้ำ ๓๕ ตัวนี้ ไปดูว่าป่าจะใหญ่ขึ้นอย่างไร เพิ่งเสร็จมาไม่กี่เดือน จะเห็นว่าป่านั้นเจริญ ไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว มันขึ้นเอง...”

* โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าโดยฝายต้นน้ำลำธารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านบุ่งเข้ ตำบลหนองแสงอำเภอบางพลี จังหวัดนครนายก มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดินและชั้นบรรยากาศโดยรอบ โดยการสร้างฝายกั้นน้ำ เพื่อชะลอการไหลของกระแสน้ำตามร่องน้ำลำธารน้ำที่ถูกเก็บกักไว้หลังฝายจะไหลบน ผิวดินและซึมลงใต้ดิน นอกจากนั้นยังสามารถกระจายน้ำที่ยังขังอยู่หลังฝาย ไปยังพื้นที่รอบๆ โดยทางคูน้ำเล็ก ๆ ที่ขุดขึ้นเพื่อขยายพื้นที่ชุ่มชื้นให้กว้างออกไป ในบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวย ก็จะกักเก็บน้ำด้วยวิธีดังกล่าวเป็นปริมาณมาก เพื่อใช้ในกิจการขยายเขตความชุ่มชื้น โครงการนี้จะเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป


พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๗







“...มาเร็ว ๆ นี้ โครงการต่าง ๆ โรงงานเกิดขึ้นมามาก จนกระทั่งคนนึกว่าประเทศไทยนี้ จะเป็นเสือตัวเล็ก ๆ แล้วก็เป็นเสือตัวโตขึ้น เราไปเห่อว่าจะเป็นเสือ...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐







“...ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้ หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้น บางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐







“...มีพ่อค้าคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาทำโรงงาน สำหรับทำสับปะรดกระป๋อง เขาลงทุนเป็นล้าน จำไม่ได้แล้วกี่ล้าน เพื่อสร้างโรงงาน การลงทุนมากอย่างนั้น บอกให้เขาทราบว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะว่าเคยทำโรงงานเล็ก ๆ ที่ทางภาคเหนือ ใช้เงินสามแสนบาท เพื่อที่จะเอาผลิตผลของชาวบ้านชาวเขามาใส่กระป๋อง แล้วขายก็ได้ผล เป็นโรงงานเล็กๆ บอกว่าที่เขาลงทุนเป็นล้าน รู้สึกว่าเสี่ยง เขาบอกว่าต้องทำอย่างนั้น เขาก็ลงทุน ทำไปทำมา สับปะรดที่อำเภอบ้านบึง ทางชลบุรีก็มีไม่พอ เมื่อมีไม่พอต้องไปสั่งสับปะรดมาจากปราณบุรี สับปะรดจากปราณบุรีต้องขนส่งมา ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ทำไปทำมาโรงงานก็ล้ม อย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่าทำโครงการอะไร ก็จะต้องนึกถึง ขนาดที่เหมาะสมกับที่เรียกว่าอัตภาพ หรือกับสิ่งแวดล้อม...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐








“...วันนี้พูดถึงวิธีแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบัน วิกฤตการณ์ปัจจุบัน ทางหนึ่งวิธีหนึ่ง สมัยนี้เป็นสมัยที่พูดกันได้ว่า “โลกาภิวัตน์” ก็จะต้องทำตามประเทศอื่นด้วย เพราะว่าถ้าไม่ทำตามประเทศอื่น ตามคำสัญญาที่มีไว้ เขาอาจจะไม่พอใจ ทำไมเขาจะไม่พอใจ ก็เพราะว่าเขาเองมีวิกฤตการณ์เหมือนกัน การที่ประเทศใกล้เมืองไทยในภูมิภาคนี้มีวิกฤติการณ์ด้วย ก็ทำให้เราฟื้นจากวิกฤตการณ์นี้ยากขึ้นและไม่ใช่เฉพาะประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ แม้แต่ประเทศที่ดูยังเจริญรุ่งเรืองดี ก็รู้สึกว่ากำลังจะเดือดร้อนขึ้น เพราะว่า ถ้าไม่แก้ไขวิกฤตการณ์ในมุมไหนของโลก ส่วนอื่นของโลกก็จะต้องเดือดร้อนเหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องพยายามอุ้มชูประชาชนให้ได้มีงานทำ มีรายได้ ก็จะสามารถผ่านวิกฤตการณ์ แต่ถ้าทำแบบที่เคยมีนโยบายมาคือผลิตสิ่งของทางอุตสาหกรรมมากเกินไป ก็จะไม่สำเร็จ โดยที่ในเมืองไทยตลาดมีน้อยลง เพราะคนมีเงินน้อยลง...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐











“...แต่ข้อสำคัญ นักเศรษฐกิจบอกว่าให้ส่งออก ส่งออกไปประเทศอื่น ๆ ซึ่งก็เดือดร้อนเหมือนกัน เขาก็ไม่ซื้อ ถ้าทำผลิตผลทางอุตสาหกรรมและไม่มีผู้ซื้อก็เป็นหมันเหมือนกัน เราอาจจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี แต่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ ก็มีอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพสุดยอดทีเดียว ที่เกิดมีวิกฤตการณ์ขึ้นมาก็เพราะว่าขยายการผลิตมากเกินไป และไม่มีใครซื้อ เพราะไม่มีใครมีเงินพอที่จะซื้อ แต่ท่านผู้ที่ชอบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ อาจจะไม่ค่อยพอใจ ต้องถอยหลังเข้าคลองจะต้องอยู่อย่างระมัดระวัง และต้องกลับไปทำกิจการที่อาจจะไม่ค่อยซับซ้อนนัก คือใช้เครื่องมืออะไรที่ไม่หรูหรา แต่ก็อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่จะถอยหลังเพื่อที่จะก้าวหน้าต่อไป ถ้าไม่ทำอย่างที่ว่านี้ก็จะแก้วิกฤตการณ์นี้ยาก...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐










“...เราเลยบอกว่า “ถ้าจะแนะนำก็แนะนำได้ ต้องทำแบบ “คนจน” เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมากเราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้น ที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔











“...แต่ถ้าเรามีการบริหารที่เรียกว่าแบบคนจนแบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป แต่ถ้าเราใช้ตำราแบบคนจน ใช้ความอะลุ้มอล่วยกัน ตำรานั้นไม่จบ เราจะก้าวหน้าเรื่อย ๆ ..”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔






















“...ความจริงประเทศไทยนี้ก้าวหน้ามามากแล้ว และก็ก้าวหน้ามาอย่างสม่ำเสมอ ไม่เร็วเกินไปไม่ช้าเกินไป...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔














“...แต่เรื่องที่สำคัญก็คือ การทำมาหากินของประชาชนคนไทย ซึ่งต้องให้มีความสะดวกสบาย มีความปลอดภัย มีการปกครองที่มีความเป็นธรรม...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔













“...นักเศรษฐกิจ นักการค้า นักการธนาคารทั้งหลายก็ย่อมทราบดีว่าบางคนมีเงินเป็นร้อย ๆ ล้าน แต่ดำเนินกิจการอย่างไม่ถูกต้อง ก็จะหมดตัวภายในไม่กี่ปีก็ได้ เมืองไทยสร้างสมบารมีมาเป็นร้อย ๆ ปี ถ้าไม่ระวังดี ๆ ภายในสองสามปีก็หมดตัวได้เหมือนกัน แต่หมดตัวอย่างนี้แล้ว หมายความว่าไม่มีที่อยู่แล้วก็ไม่สามารถที่จะกลับคืนมาแน่ เราทุกคนต้องการมีความสุขความสบาย เราจึงต้องปฏิบัติในสิ่งที่จะทำให้มีความสุข ความสบาย คือสะสมความดี สะสมบารมี...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๘














“...แต่กลับทำให้เกิดความหนักใจอยู่เหมือนกัน ว่าทำงานมาเป็นเวลาถึง ๔๗ ปีกว่าแล้วสภาพหรือสถานการณ์ของประเทศก็ยังมีความยุ่งยากมิใช่น้อยในทุกด้าน ในด้านการทำมาหากินก็ตาม ในด้านความเป็นอยู่ก็ตาม หรือในด้านระเบียบในการปกครองหรือในการอาชีพ แม้สถานะทางความมั่นคงก็ยังไม่ดีตามที่ควรจะเป็น ข้อนี้ก็เป็นความหนักใจ เพราะหมายความว่า งานที่ทำมานั้น แม้มีผลก็ตาม แต่ยังไม่พอ จะต้องให้มีผลดียิ่งขึ้นเพื่อที่จะให้ประเทศมีความมั่นคง มีความผาสุก ราบรื่นอย่างเต็มที่ แต่ถ้าดูอีกทางหนึ่ง ชีวิตของคนเราก็ตาม ชีวิตของหมู่คณะ หรือประเทศชาติก็ตาม ก็ย่อมต้องประสบความเจริญ และความเสื่อม สลับกันไปเป็นธรรมดา ทุกคนก็ทราบดีว่าในชีวิตของแต่ละคน ก็ผ่านเวลาที่เป็นสุขและบางทีก็มีความทุกข์ อันนี้ประเทศชาติก็เป็นเช่นเดียวกัน ก็มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง แต่ก็ขออย่าให้มากเกินไป เพราะว่าถ้ามากเกินไป แม้สุขมากเกินไป ก็ทำให้คนเราไม่สบายได้เหมือนกัน แต่ว่าถ้าทุกข์มาก ความเป็นอยู่ของคนเรา อยู่ไม่ได้ มันตรอมใจ ไม่มีกำลังใจ ลงท้ายก็ล่มจม...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

















“...ชัยชนะของประเทศนี้ โดยงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นก็คือ ความสงบ ไม่เป็นบอสเนีย เป็นไทยแลนด์ เป็นเมืองไทยที่จะมีความเจริญก้าวหน้า จนเป็นชัยชนะของการพัฒนา ตามที่ได้ตั้งชื่อ “มูลนิธิชัยพัฒนา” ชัยของการพัฒนานี้มีจุดประสงค์ คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดี...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๗
















“...การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ โดยมากคนก็จะใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐
















“...ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถพ้นวิกฤตการณ์ได้ดีกว่าหลายประเทศ เพราะแผ่นดินนี้ยังเหมาะสมกับความเป็นอยู่ได้ อย่างที่เคยพูดมาหลายปีแล้วว่า ภูมิประเทศยัง “ให้” คือเหมาะสม แต่ความเป็นอยู่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องอยู่อย่างประหยัด และต้องไปในทางที่ถูกต้อง...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐





















“...จะต้องขอถือโอกาสนี้ มีข้อสังเกตว่าทั่วโลก เราเปิดวิทยุก็ตาม โทรทัศน์ก็ตาม เราก็จะเห็นทุกวันว่าเขามีการฆ่ากัน เขามีการทำลายกัน ไม่มีวันที่เว้นที่จะไม่มีความเดือดร้อนอย่างรุนแรง มิใช่ภัยธรรมขาติเท่านั้นเอง แต่ภัยจากสงคราม ภัยจากความเบียดเบียนกัน ทุกวันไม่มีเว้น แต่ว่าในประเทศไทย ก็ยังคงสงบตามสมควร ขอให้ทุกคนช่วยกัน อย่าเบียดเบียนกัน ก็จะทำให้เรายังคงรักษาความสงบได้ จะเรียกว่าตามอัตภาพของเรา คือประเทศไทยเราอาจไม่เป็นประเทศที่รุ่งเรืองที่สุดในโลก หรือรวยที่สุดในโลก หรือฟู่ฟ่าที่สุดในโลก แต่ก็ขอให้เมืองไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มีความสงบได้ เพราะว่าในโลกนี้หายากแล้ว เราทำเป็นประเทศที่สงบ ประเทศที่มีคนช่วยเหลือซึ่งกันและกันจริง ๆ เราจะเป็นที่หนึ่งในโลกในข้อนี้ แล้วรู้สึกว่าที่หนึ่งในโลกในข้อนี้จะดีกว่าผู้อื่น จะดีกว่าคนที่รวยที่สุดในโลก จะดีกว่าคนที่เก่งในทางอะไรก็ตามที่สุดในโลก ถ้าเรามีความสงบแล้วมีความสบาย ความมั่นคงที่สุดในโลกนั้นรู้สึกจะไม่มีใครสู้เราได้...”

พระราชดำรัส
ในโอกาสที่ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์
นำคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และนักเรียนทุนพระราชทานเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันจันทร์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙



ชาติและความสมดุล




“...สรรพสิ่งทั้งหลายดำรงอยู่พร้อมกับเจริญยั่งยืนไปได้ เพราะมีความสมดุลย์ในตัวเอง อย่างชีวิตมนุษย์เรานี้ดำรงอยู่ได้เพราะมีออกซิเจน ไฮโดเจน และคาร์บอน อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของชีวิต ได้สัดส่วนกัน. เมื่อใดส่วนประกอบอันเป็นแก่นแกนของชีวิต ส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องขาดหายไปไม่อาจแก้ไขให้คงคืนสมดุลย์ได้ เมื่อนั้น ชีวิตก็เสื่อมโทรมแตกดับ. ธรรมชาติอื่นๆ ตลอดจนสิ่งที่มนุษย์ปรุ่งแต่งสรรค์สร้างขึ้น เช่น เครื่องจักร โรงงาน อาคาร บ้าน เรือน แม้กระทั่งเศรษฐกิจ กฎหมาย และทฤษฎีต่างๆ ก็เหมือนกัน ล้วนต้องมีส่วนประกอบที่สมดุลย์ทั้งสิ้น...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
วันพฤหัสบดีที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๔





“...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัว ให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์ เพราะหากไม่กระทำด้วยความระมัดระวัง ย่อมจะหวังผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้โดยยาก ยกตัวอย่างเช่นการปราบศัตรูพืชถ้าทุ่มเททำไปโดยไม่มีจังหวะที่ถูกต้อง และโดยมิได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้กระจ่างชัดอย่างทั่วถึงก็อาจสิ้นเปลืองแรงงาน ทุนทรัพย์ วัสดุอุปกรณ์ ที่ล้วนมีราคาไปโดยได้รับผลไม่คุ้มค่า ยิ่งกว่านั้นการทำลายศัตรูพืช ยังอาจทำลายศัตรูของพืชที่มีอยู่บ้างแล้วตามธรรมชาติ และทำอันตรายแก่ชีวิตคนชีวิตสัตว์เลี้ยงอีกด้วย การพัฒนาอย่างถูกต้อง ซึ่งหวังผลอันยั่งยืนไพศาล จึงต้องวางแผนงานเป็นลำดับขั้นอย่างถี่ถ้วนทั่วถึง ให้องค์ประกอบของแผนงานทุกส่วนสัมพันธ์และสมดุลกันโดยสอดคล้อง...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันศุกร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗




“...เมื่อพูดถึงการสร้างความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองมักจะคิดกันถึงงานที่ใหญ่โตมากๆ เช่นการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นต้น สำหรับประเทศของเรา ข้าพเจ้าใคร่ขอให้นักวิชาการและปฏิบัติการทางเทคโนโลยี หันมาพิจารณาถึงการสร้างสรรค์อีกแบบหนึ่งด้วย คือการใช้หลักวิชาการและความคิดริเริ่มสร้างงานที่อาจดูไม่ใหญ่โตนัก แต่มีประสิทธิภาพสูงและอำนวยประโยชน์โดยตรงได้มากโดยนำเอาทรัพยากรธรรมชาติ ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนแรงงานของคนส่วนใหญ่ให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและให้เกิดการเสียหาย หรือความสูญเปล่าน้อยที่สุด การสร้างความเจริญในลักษณะนี้จะช่วยเสริมสร้างความเจริญของกิจการส่วนรวมได้แน่นอน เมื่อเราค่อยๆ สร้างความเจริญยิ่งใหญ่ที่ปรารภปรารถนา ก็จะเกิดตามมาเองในไม่ช้า...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
ณ วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐






“...ผู้ที่มีความอยู่ดีกินดีนั้นย่อมสามารถป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ได้ ทั้งยามปกติ ทั้งยามคับขันเพราะว่าผู้ที่มีชีวิตที่ดี มีอาหารพอเพียง มีฐานะมั่นคง ย่อมมีจิตใจแข็งแรง และทำให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้เกิดความเข้าใจในความมั่นคง คือการรักษาความปลอดภัยของประเทศ และหวงแหนแผ่นดินของตัว....”

พระราชดำรัส
ในโอกาสที่ผู้บัญชาการศูนย์การบินทหารบก นำผู้มีจิตศรัทธาเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน
สำหรับพระราชทานศูนย์การบินทหารบกจัดตั้งโรงสีข้าวตามพระราชดำริ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันพุธที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๔







“...อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไป. เมื่อไม่กี่วันนี้ก็ได้พูดต่อหน้าผู้ที่สนใจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาว่าประเทศไทย ค่อนข้างจะแย่ ผ่านในระยะที่เสื่อม ทำให้ความเป็นอยู่ หรือแม้การพัฒนาค่อยๆ ถอยลง. เขา คนที่เป็นนักพัฒนานั้นบอก: “ไม่จริง อย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจของเรากำลังเฟื่องฟู คนมาลงทุนในประเทศมาก แล้วอุตสาหกรรมก็ก้าวหน้า.” เลยต้องบอกว่า จริง มีทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินมากๆ มีการกู้มาลงทุนมากๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้าแล้ว ประเทศก็เจริญ มีหวังเป็นมหาอำนาจ. แต่ก็ต้องเตือนเขาว่าจริง ตัวเลขดี แต่ว่า ถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนก็จะไม่มีทาง เพราะว่าผู้ที่ปฏิบัติอุตสาหกรรมก็ตาม เศรษฐกิจก็ตาม ก็เป็นมนุษย์ทั้งนั้นแล้วเป็นชาวบ้านทั้งนั้น. ท่านนายก ก็เป็นชาวบ้าน คือไม่ใช่คนที่มาจากไหน เป็นคนที่มาจากบ้าน. แล้วก็เป็นคนที่มีชีวิต ทั้งความสุขความทุกข์เช่นเดียวกับทุกคน. ฉะนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นทั้งนั้น...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต
วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

ปัญหาสิ่งแวดล้อม

“...ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจากมลพิษหรือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงที่อื่นๆ ด้วย. เหตุนี้ ทุกคนทุกประเทศในโลก จึงย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วยกัน ทั้งในการแก้ไข ลดปัญหา และปรับปรุงสร้างเสริมสภาวะแวดล้อมให้กลับคืนมาสู่สภาพอันเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขของตนเองและเพื่อนมนุษย์..."

พระราชดำรัส
พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก
ในพิธีรับมอบเรือขจัดคราบน้ำมันซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กน้อมเกล้าฯ ถวาย
วันพุธที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๙



“...แต่ก่อนนี้เคยพูดถึง สิ่งแวดล้อมขั้นประเทศ เดี๋ยวนี้ถึงขั้นโลก ก็เป็นความรับผิดชอบที่เรามี ความจริงต้องพูดถึงขั้นโลก เพราะประเทศไทยนี้ก็เติบโตขึ้นมา จะมีหน้ามีตาในโลกว่าเป็นประเทศที่มั่นคง เป็นประเทศที่ดี อย่างนั้นอย่างนี้ เราจึงต้องมีความรับผิดชอบในโลกมากขึ้น...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต
วันจันทร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒



“...ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี. ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือ ไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว...”

พระราชดำรัส
ในการเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๒๙
วันศุกร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙




“...การนำหลักวิชาและเทคโนโลยีใดๆ มาใช้ในงานเกษตรกรรม จึงต้องพยายามระมัดระวังไม่ให้เป็นการทำลายะรรมชาติ เพราะจะมีผลกระทบเสียหายแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์โดยตรง”

พระราชดำรัส
พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในงานวันอาหารโลก
ณ สำนักงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สาขาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
วันจันทร์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๘


“...การเผาเชื้อเพลิง เช่น ถ่าน ถ่านหิน น้ำมัน เชื้อเพลิงอะไร ๆ ต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งหมดทำให้คาร์บอนขึ้นไปในอากาศจำนวน 5 พันล้านตันต่อปี แล้วก็ยังมีการเผาทำลายป่าอีก 1.5 พันล้านตัน รวมแล้วเป็น 6.5 พันล้านตัน ถ้าขึ้น ๆ ไปอย่างนี้ ก็เท่ากับเกือบสิบเปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่มีอยู่แล้วในอากาศ ถ้าไม่มีอะไรที่จะทำให้จำนวนของสารนี้ในอากาศลดลง ก็จะทำให้สารนี้กลายเป็นเหมือนตู้กระจกครอบ ทำให้โลกนี้ร้อนขึ้น...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต
วันจันทร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒



ปัญหาสังคม


“...สภาวะที่บีบ รัด ความเป็นอยู่ของเราที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลกระเทือนมาจากความวิปริตของวิถีความเปลี่ยนแปรทางเศรษฐกิจ การเมือง และทางอื่น ๆ ของโลก เราจึงไม่สามารถที่จะหลีกพ้นได้ หากแต่จะต้องเผชิญปัญหาอย่างผู้มีสติ มีปัญญา มีความเข้มแข็งและกล้าหาญ เพื่อเราจักได้รวมกันอยู่อย่างมั่นคงไพบูลย์...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๒๒
วันอาทิตย์ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๑





“...ปัญหาสังคมนั้น ถ้าพิจารณาดูจะเห็นความจริงข้อหนึ่งว่า ปัญหาทั้งปวงเกิดจากมนุษย์เอง มีมนุษย์เป็นตัวการก่อปัญหา. ถึงไม่ก่อให้คนอื่นโดยตรง ก็ก่อให้ตัวเอง แล้วทำให้เดือดร้อนไปถึงคนอื่น กลายเป็นปัญหาสังคม. ปัญหาสังคมจึงมีมาคู่กับมนุษย์. แม้ปัจจุบันโลกเราจะวิวัฒนาการก้าวหน้าไปเพียงใดก็ตาม แต่ปัญหาต่างๆ ก็มิได้เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่มีตัวอย่างทั้งดีและไม่ดีปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากกว่าแต่ก่อน. ดังนั้น บุคคลผู้สามารถประคับประคองให้อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข จึงต้องมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นที่จะยึดมั่นปฏิบัติตามแบบอย่างที่พิจารณารู้ ชัดด้วยปัญญาแล้วว่าเป็นทางแห่งความดี ความเจริญ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้มัวเมาหลงผิดไปในทางเสื่อมเสียพร้อมกันนั้นก็จะต้องมี สติกำกับอยู่ตลอดเวลา ที่จะไม่ให้ประพฤติปฏิบัติผิดพลาดด้วยความประมาทพลั้งเผลอ. เหตุนี้ การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาสังคม นอกจากจะมุ่งสงเคราะห์ในด้านฐานะความเป็นอยู่แล้ว จึงควรจะได้พัฒนาบุคคลเป็นข้อใหญ่ด้วย. เพราะถ้าบุคคลซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคม มีความเข้มแข็ง และมีสติปัญญาที่จะพิจารณาเลือกเฟ้นสิ่งที่ควรและไม่ควรปฏิบัติ ปัญหาต่างๆ ในสังคมก็จะบรรเทาเบาบางลง และสังคมส่วนรวมย่อมจะมีโอกาสพัฒนาให่เจริญก้าวหน้าได้โดยไม่ยากนัก...”

พระราชดำรัส
พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมการสังคมศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ ๑๕
ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์
วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๓๙





“...บ้านเมืองของเราถูกกระทบกระแทกจากความผันผวนและเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทาง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลก เป็นเหตุทำให้คนส่วนหนึ่งปรับตัวไม่ทัน กลับกลายเป็นคนที่คิดเห็นแต่ความอยู่รอดและประโยชน์เฉพาะตนเอง โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมและประโยชน์ของผู้อื่นจึงพากันก่ออาชญากรรมและ ความไม่สงบ รวมทั้งการละเมิดและเบียดบังผู้อื่น ด้วยอาการและวิธีการต่างๆ อย่างคาดคิดไม่ถึง. . .”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานกระบี่แก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุด
จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๐
วันจันทร์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๒๑



ความมีเหตุผล


“...ทุกคนจำเป็นต้องหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาการกระทำของตน ให้รอบคอบอยู่เสมอ ระมัดระวังทำการทุกอย่างด้วยเหตุผล ด้วยความมีสติ และด้วยความรู้ตัว เพื่อเอาชนะความชั่วร้ายทั้งมวลให้ได้โดยตลอด และสามารถก้าวไปถึงความสำเร็จที่แท้จริง ทั้งในการงานและการครองชีวิต...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร
แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา ๒๕๑๕
วันศุกร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๑๖





“...ท่านจะต้องทำความคิดและจิตใจให้เปิดกว้าง แต่หนักแน่น มีเหตุผล มีวิจารณญาณ พร้อมกันนั้น ก็ต้องมีความจริงใจ เห็นใจ และเมตตาปรองดองกัน โดยถือประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันเป็นวัตถุประสงค์เอก. ที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง จะต้องพยายามขจัดความดื้อรั้น ถือตัว ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนน้อยออกให้ได้ ไม่ปล่อยให้เข้ามาครอบงำทำลายความคิดจิตใจที่ดีงามของตน แล้วท่านจะสามารถปฏิบัติการงานทุกอย่างได้ด้วยความราบรื่น เบิกบานใจ อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จตามที่ปรารภปรารถนาทุกสิ่งในที่สุด...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันเสาร์ที่๑๒กรกฎาคม๒๕๒๙





“...ถ้าแต่ละคนมีหน้าที่ทั้งในหน้าที่ที่มี ทั้งหน้าที่ที่ได้ตั้งไว้กับตัว หรืออาชีพทั้งในหน้าที่ที่มีในทางที่เป็นคนไทยเป็นมนุษย์ ที่จะต้องมีความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ถ้ามีความคิดที่เที่ยงตรง ที่มีเหตุผล ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเห็นด้วย เห็นพ้องกันเสมอ ไม่หมายความว่าถ้าใครพูดอะไรไปจะต้องถือว่าใช่แล้ว ยกมือแบบในที่เขาล้อกันในสภา มีความคิดความเห็นต่างกันได้ แต่ถ้าพูดกันด้วยเหตุผลแล้ว ไม่ใช่มิจฉาทิฐิคือไม่ถือเอาเหตุผลลับๆ ล่อๆ มาใช้ เชื่อว่าเราอยู่ด้วยกันได้อย่างดี...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะผู้แทนสมาคมองค์การเกี่ยวกับศาสนา
ครู นักเรียนโรงเรียนต่างๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยในโอกาสเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗







“... การคิดการปฏิบัติให้ถูกให้ดีนั้น ก็คือการคิดและปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการ หลักวิชา หลักเหตุผลและหลักสุจริตธรรม ผู้มิ่งหมายจะสร้างสรรค์ประโยชน์และความเจริญ จึงควรพยายามปฏิบัติฝึกฝนตนเองให้มีความคิดจิตใจที่เที่ยงตรง และความมั่นคงเป็นกลาง เป็นอิสระจากอคติ ซึ่งมีหลักฝึกหัดที่สำคัญประกอบส่งเสริมกันอยู่สองข้อ ข้อแรก ให้หัดพูดหัดทำหัดคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทพลาดผิด และอคติต่างๆ มิให้เกิดขึ้น. ข้อสอง ให้หัดใช้ปัญญาความฉลาดรู้เป็นเครื่องวิเคราะห์และวินิจฉัยเรื่องราว ปัญหาต่างๆ ทุกอย่างที่จะต้องขบคิดแก้ไข เพื่อ ช่วยให้เห็นเหตุ เห็นสาระได้ชัด และวินิจฉัยได้ถูกต้องเที่ยงตรงว่าข้อที่เท็จ ที่จริง ที่ถูก ที่ผิด ที่เป็นประโยชน์ ที่มิใช่ประโยชน์อยู่ตรงไหน. สติ และปัญญาที่ได้ฝึกฝนใช้จนคล่องแคล่วเคยชินแล้ว จะรวมเข้าเป็นสติปัญญาที่จะส่งเสริมให้บุคคลสามารถคิดอ่านและประพฤติปฏิบัติ ได้ถูก ได้ดี ให้เกิดประโยชน์แก่ตน แก่ส่วนรวมได้สมบูรณ์พร้อมทุกส่วน...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
วันเสาร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๓



ความพอประมาณ




“...ความพอเพียงนี้ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑






“...การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น ส่วนการรู้จักประมาณสถานการณ์นั้น ได้แก่การรู้จักพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ทราบชัดถึงความเป็นมาและที่เป็นอยู่ รวมทั้งที่คาดว่าจะเป็นไปในอนาคต. การรู้จักประมาณสถานการณ์ได้นี้จะทำให้สามารถวางแผนและปฏิบัติการได้ถูกตรง กับปัญหา ทันแก่สถานการณ์และความจำเป็น อันจะทำให้งานที่ทำได้ประโยชน์ ที่สมบูรณ์คุ้มค่า. การรู้จักประมาณตนและรู้จักประมาณสถานการณ์จึงเป็นอุปการะอย่างสำคัญ ที่จะเกื้อกูลให้บุคคลดำเนินชีวิตและกิจการงานไปได้อย่างราบรื่นและก้าวหน้า...”

พระบรมราโชวาท
พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑







“...คนเราที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่มีทางที่จะหาทรัพย์มาป้อนความฟุ้งเฟ้อได้ ความฟุ้งเฟ้อนี้เป็นปากหรือเป็นสัตว์ที่หิวไม่หยุด ความฟุ้งเฟ้อนี้อ้าปากตลอดเวลา จะป้อนไปเท่าไร ๆ ก็ไม่พอ เมื่อป้อนเท่าไร ๆ ไม่พอแล้ว ก็หาเท่าไร ๆ ก็ไม่พอ ความไม่พอนี้ ไม่สามารถที่จะหาอะไรมาป้อนความฟุ้งเฟ้อนี้ได้ ฉะนั้น ถ้าจะต่อต้านความเดือดร้อน ไม่ใช่ว่าจะต้องประหยัดมัธยัสถ์ จะต้องป้องกันความฟุ้งเฟ้อ และป้องกันวิธีการที่มักจะใช้เพื่อที่จะมาป้อนความฟุ้งเฟ้อนี้ คือความทุจริต ฉะนั้น การที่จะณรงค์* ที่จะต่อสู้เพื่อให้คนมัธยัสถ์และประหยัดนั้นก็อยู่ที่ตัวเอง ไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น เมื่ออยู่ที่ตนเอง ไม่อยู่ที่คนอื่น การณรงค์โดยมากมักออกไปข้างนอก จะไปชักชวนคนโน้นชักชวนคนนี้ให้ทำโน่นทำนี่ ที่จริงตัวเองต้องทำเอง ถ้าจะใช้คำว่าณรงค์ก็ต้องณรงค์กับตัวเอง ต้องฝึกตนให้รู้จักพอดี พอเหมาะ ถ้าไม่พอดี ไม่พอเหมาะ มันจะเกิดทุจริตในใจได้...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะลูกเสือชาวบ้านที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ในโอกาสเสด็จฯ กลับจากแปรพระราชฐานจากจังหวัดสกลนคร
ณ สนามบินดอนเมือง
วันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๗

* คงตัวสะกดตามต้นฉบับไว้ ที่ถูกต้องคือคำว่า รณรงค์













ความพอเพียง






“...เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต
รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอก
รองรับบ้านเรือน ตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม
แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป...”*

*พระบรมราโชวาทพระราชทานผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา




“...สมัยก่อนนี้พอมีพอกินสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน
จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะให้ทุกคน
มีความพอเพียงได้...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๖








“...คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก. ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน. พอมีพอกินนี้ ถ้าใครได้มาอยู่ที่นี่ ในศาลานี้ เมื่อ เท่าไหร่ ๒๐ ๒๔ ปี เมื่อปี ๒๕๑๗. ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๔๑ นี้ ก็ ๒๔ ปี ใช่ไหม. วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน. พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง. ถ้าแต่ละคนพอมีพอกิน ก็ใช้ได้. ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้น ก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย. สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน. จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้. ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ. แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑



“...ฉะนั้น ควรที่จะปฏิบัติสิ่งที่พอเพียง. ทางความคิดก็เหมือนกัน ไม่ใช่ทางกายเท่านั้น ถ้ามีใครมีความคิดอย่างหนึ่งและต้องการบังคับให้คนอื่นคิดอย่างเดียวกับตัว ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่ไม่ถูกก็ไม่สมควรทำ. ปฏิบัติอย่างนี้ก็ไม่ใช่ปฏิบัติแบบพอเพียง...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑





“...อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง. เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วย ว่าจะแปลเป็น Self-sufficiency ( พึ่งตนเอง) ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริง เศรษฐกิจพอเพียงนี้ กว้างขวางกว่า Self-sufficiency. คือ Self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง)...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑







“...ถ้าไม่มีเศรษฐกิจพอเพียง เวลาไฟดับ ไฟฟ้านครหลวง หรือไฟฟ้าฝ่ายผลิต เขาดับหมด จะพังหมด จะทำอย่างไร. ที่ที่ต้องใช้ไฟก็ต้องแย่ไป. บางคนในต่างประเทศเวลาไฟดับ เขาฆ่าตัวตาย แต่ของเรา ไฟดับจนเคยชิน เราไม่เป็นไร เมื่อไฟดับ หากมีเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่ ถ้าเรามีเครื่องบั่นไฟ ก็ใช้ปั่นไฟ หรือถ้าขั้นโบราณกว่า มืดก็จุดเทียน คือมีทางที่จะแก้ปัญหาเสมอ. ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็มีเป็นขั้นๆ แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์นี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้. จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน. ถ้ามีการช่วยกัน แลกเปลี่ยนกัน ก็ไม่ใช่พอเพียงแล้ว. พอเพียงในทฤษฎีหลวงนี้ คือให้สามารถที่จะดำเนินงานได้...”

พระราชดำรัส
พระราชทาน เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒







“...ความพอเพียงนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง. อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไหลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก. อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัย. จริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องการมีเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็น เศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่าผลิตพอเพียงได้...”

พระราชดำรัส
พระราชทาน เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐




“...บัดนี้ขอพูดต่อจากที่พูดเมื่อปีที่แล้ว ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างไรซึ่งได้แย้มเอาไว้แล้ว. แต่เศรษฐกิจพอเพียงนั้น เขาตีความว่าเป็นเศรษฐกิจชุมชน หมายความว่า ให้พอเพียงในหมู่บ้าน หรือในท้องที่ให้สามารถที่จะมีพอกิน. เริ่มด้วยพอมีพอกิน พอมีพอกินนี่ ได้พูดมาหลายปี สิบกว่าปีมาแล้ว ให้พอมีพอกิน แต่ว่าพอมีพอกินนี้ เป็นเพียงเริ่มต้นของเศรษฐกิจ. เมื่อปีที่แล้วบอกว่าถ้าพอมีพอกิน คือ พอมีพอกินของตัวเองนั้น ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน. สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่าง จะเรียกว่า อำเภอ จังหวัด ประเทศ. จะต้องมีการแลกเปลี่ยน มีการไม่พอเพียงกัน จึงบอกว่าถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะพอแล้ว จะใช้ได้...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒


“...คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ไม่มีในตำรา ไม่เคยมีระบบเศรษฐกิจพอเพียง. มีอย่างอื่นแต่ไม่ใช้คำนี้. ปีที่แล้วพูดว่า เศรษฐกิจพอเพียง เพราะหาคำอื่นไม่ได้. และได้พูดอย่างหนึ่งว่า เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือ ไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ. ในคราวนั้น เมื่อปีที่แล้วนึกว่าเข้าใจกัน แต่เมื่อไม่นานเดือนที่แล้ว มีผู้ที่ควรจะรู้ เพราะว่าได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนามาช้านานแล้วมาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง นี่ดีมาก แล้วก็เข้าใจว่าปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ. ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง และทำได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑





“... ที่พูดกลับไปกลับมาในเรื่องการค้า การบริโภค การผลิต และการขายนี้ ก็นึกว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจ ในวิกฤตการณ์. ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อย จนกระทั่งคนที่มีเงินมาก ล้วนเดือดร้อน. แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้. การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลาไม่ใช่ง่ายๆ. โดยมากคนก็ใจร้อน เพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็สามารถที่จะแก้ไขได้...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐




"...ก็ชัดเจนแล้วว่าควรจะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงไม่ต้องทั้งหมด เพียงครึ่งหนึ่งก็ใช้ได้ แม้จะเป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ. หมายความว่าวิธีปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่ต้องทำทั้งหมด และขอเติมว่าถ้าทำหมดก็ทำไม่ได้. ถ้าครอบครัวหนึ่งหรือแม้หมู่บ้านหนึ่งทำเศรษฐกิจพอเพียงร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะเป็นการถอยหลัง ถึงสมัยหิน สมัยคนอยู่ในอุโมงค์หรือในถ้ำ ซึ่งไม่ต้องอาศัยหมู่อื่น เพราะว่าหมู่อื่นก็เป็นทั้งศัตรูทั้งนั้น ตีกัน ไม่ใช่ร่วมมือกัน จึงต้องทำเศรษฐกิจพอเพียง. แต่ละคนต้องหาที่อยู่ ก็หาอุโมงค์หาถ้ำ. ต้องหาอาหาร คือไปเด็ดผลไม้หรือใบไม้ตามที่มี หรือไปใช้อาวุธที่ได้สร้างได้ประดิษฐ์เอง ไปล่าสัตว์. กลุ่มที่อยู่ในอุโมงค์ในถ้ำนั้น ก็มีเศรษฐกิจพอเพียง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์. ก็ปฏิบัติได้..."

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑


"...แต่ต่อมาเมื่อออกจากถ้ำ ในสมัยต่อมา ที่สร้างบ้านเป็นที่อาศัย ก็เริ่มจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหลือประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามีคนผ่านไปผ่านมา ซึ่งไม่เป็นศัตรู เอาอะไร ๆ มาแลกเปลี่ยนกัน. เช่นคนที่มาจากไกล ผ่านมามีหนังสัตว์ที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ก็ซื้อด้วยการแลกเปลี่ยนอาหาร เช่น ปลาที่จับได้ในบึง. อย่างนี้ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว. เวลาก้าวล่วงมาอีก มาถึงปัจจุบันนี้ ถ้าคนที่อยู่ทั้งข้างนอกทั้งข้างในนี้ จะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คงทำไม่ได้. และถ้าสำรวจตัวเอง หรือเศรษฐกิจของตัวเอง ก็เข้าใจว่าจะเห็นได้ว่าไม่ได้ทำ. เข้าใจว่าทำไม่ถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่ถึงเศษหนึ่งส่วนสี่ เพราะว่าสิ่งที่ตนผลิตหรือทำ ส่วนใหญ่ก็เอาไปแลกกับของอื่นที่มีความจำเป็น. ฉะนั้นจึงพูดว่าเศรษฐกิจพอเพียง ปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็ควรจะพอและทำได้."

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑






"...คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดคนอื่นน้อย. ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข. พอเพียงนี้อาจจะมีมาก มีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น. ต้องให้พอประมาฯตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเบียดเบียนคนอื่น. ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง..."

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑