วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

ชาติและความสมดุล




“...สรรพสิ่งทั้งหลายดำรงอยู่พร้อมกับเจริญยั่งยืนไปได้ เพราะมีความสมดุลย์ในตัวเอง อย่างชีวิตมนุษย์เรานี้ดำรงอยู่ได้เพราะมีออกซิเจน ไฮโดเจน และคาร์บอน อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของชีวิต ได้สัดส่วนกัน. เมื่อใดส่วนประกอบอันเป็นแก่นแกนของชีวิต ส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องขาดหายไปไม่อาจแก้ไขให้คงคืนสมดุลย์ได้ เมื่อนั้น ชีวิตก็เสื่อมโทรมแตกดับ. ธรรมชาติอื่นๆ ตลอดจนสิ่งที่มนุษย์ปรุ่งแต่งสรรค์สร้างขึ้น เช่น เครื่องจักร โรงงาน อาคาร บ้าน เรือน แม้กระทั่งเศรษฐกิจ กฎหมาย และทฤษฎีต่างๆ ก็เหมือนกัน ล้วนต้องมีส่วนประกอบที่สมดุลย์ทั้งสิ้น...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
วันพฤหัสบดีที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๔





“...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัว ให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์ เพราะหากไม่กระทำด้วยความระมัดระวัง ย่อมจะหวังผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้โดยยาก ยกตัวอย่างเช่นการปราบศัตรูพืชถ้าทุ่มเททำไปโดยไม่มีจังหวะที่ถูกต้อง และโดยมิได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้กระจ่างชัดอย่างทั่วถึงก็อาจสิ้นเปลืองแรงงาน ทุนทรัพย์ วัสดุอุปกรณ์ ที่ล้วนมีราคาไปโดยได้รับผลไม่คุ้มค่า ยิ่งกว่านั้นการทำลายศัตรูพืช ยังอาจทำลายศัตรูของพืชที่มีอยู่บ้างแล้วตามธรรมชาติ และทำอันตรายแก่ชีวิตคนชีวิตสัตว์เลี้ยงอีกด้วย การพัฒนาอย่างถูกต้อง ซึ่งหวังผลอันยั่งยืนไพศาล จึงต้องวางแผนงานเป็นลำดับขั้นอย่างถี่ถ้วนทั่วถึง ให้องค์ประกอบของแผนงานทุกส่วนสัมพันธ์และสมดุลกันโดยสอดคล้อง...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันศุกร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗




“...เมื่อพูดถึงการสร้างความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองมักจะคิดกันถึงงานที่ใหญ่โตมากๆ เช่นการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นต้น สำหรับประเทศของเรา ข้าพเจ้าใคร่ขอให้นักวิชาการและปฏิบัติการทางเทคโนโลยี หันมาพิจารณาถึงการสร้างสรรค์อีกแบบหนึ่งด้วย คือการใช้หลักวิชาการและความคิดริเริ่มสร้างงานที่อาจดูไม่ใหญ่โตนัก แต่มีประสิทธิภาพสูงและอำนวยประโยชน์โดยตรงได้มากโดยนำเอาทรัพยากรธรรมชาติ ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนแรงงานของคนส่วนใหญ่ให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและให้เกิดการเสียหาย หรือความสูญเปล่าน้อยที่สุด การสร้างความเจริญในลักษณะนี้จะช่วยเสริมสร้างความเจริญของกิจการส่วนรวมได้แน่นอน เมื่อเราค่อยๆ สร้างความเจริญยิ่งใหญ่ที่ปรารภปรารถนา ก็จะเกิดตามมาเองในไม่ช้า...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
ณ วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐






“...ผู้ที่มีความอยู่ดีกินดีนั้นย่อมสามารถป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ได้ ทั้งยามปกติ ทั้งยามคับขันเพราะว่าผู้ที่มีชีวิตที่ดี มีอาหารพอเพียง มีฐานะมั่นคง ย่อมมีจิตใจแข็งแรง และทำให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้เกิดความเข้าใจในความมั่นคง คือการรักษาความปลอดภัยของประเทศ และหวงแหนแผ่นดินของตัว....”

พระราชดำรัส
ในโอกาสที่ผู้บัญชาการศูนย์การบินทหารบก นำผู้มีจิตศรัทธาเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน
สำหรับพระราชทานศูนย์การบินทหารบกจัดตั้งโรงสีข้าวตามพระราชดำริ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันพุธที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๔







“...อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไป. เมื่อไม่กี่วันนี้ก็ได้พูดต่อหน้าผู้ที่สนใจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาว่าประเทศไทย ค่อนข้างจะแย่ ผ่านในระยะที่เสื่อม ทำให้ความเป็นอยู่ หรือแม้การพัฒนาค่อยๆ ถอยลง. เขา คนที่เป็นนักพัฒนานั้นบอก: “ไม่จริง อย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจของเรากำลังเฟื่องฟู คนมาลงทุนในประเทศมาก แล้วอุตสาหกรรมก็ก้าวหน้า.” เลยต้องบอกว่า จริง มีทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินมากๆ มีการกู้มาลงทุนมากๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้าแล้ว ประเทศก็เจริญ มีหวังเป็นมหาอำนาจ. แต่ก็ต้องเตือนเขาว่าจริง ตัวเลขดี แต่ว่า ถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนก็จะไม่มีทาง เพราะว่าผู้ที่ปฏิบัติอุตสาหกรรมก็ตาม เศรษฐกิจก็ตาม ก็เป็นมนุษย์ทั้งนั้นแล้วเป็นชาวบ้านทั้งนั้น. ท่านนายก ก็เป็นชาวบ้าน คือไม่ใช่คนที่มาจากไหน เป็นคนที่มาจากบ้าน. แล้วก็เป็นคนที่มีชีวิต ทั้งความสุขความทุกข์เช่นเดียวกับทุกคน. ฉะนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นทั้งนั้น...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต
วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

1 ความคิดเห็น: