วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

การพัฒนา




“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น. ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจนั้นสูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะสร้างความเจริญยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยาก ล้มเหลวในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗




“...การพัฒนานั้น ได้เป็นภารกิจและนโยบายสำคัญของการปกครองบริหารประเทศของเรามานานพอสมควรแล้ว แต่กระนั้นก็เป็นที่ทราบกันว่า เรายังจะต้องพัฒนาต่อไปอีกมาก. ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่จะปรารภกับทุกท่านว่า การพัฒนาประเทศจะบรรลุผลตามเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบการหลายอย่าง. อย่างแรก ต้องมีคนดี คือมีปัญญา มีความรับผิดชอบ มีความวิริยะอุตสาหะ เป็นผู้ปฏิบัติ. อย่างที่สอง ต้องมีวิทยาการที่ดี เป็นเครื่องใช้ประกอบการ. อย่างที่สาม ต้องมีการวางแผนที่ดี ให้พอเหมาะพอควรกับฐานะ เศรษฐกิจ และทรัพยากรที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงประโยชน์อันพึงประสงค์ของประเทศและประชาชน เป็นหลักปฏิบัติ...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ
วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙




“...การพัฒนาชนบทเป็นงานที่สำคัญ เป็นงานที่ยาก เป็นงานที่จะต้องทำให้ด้วยความสามารถ ด้วยความเฉลียวฉลาด คือทั้งเฉลียวและฉลาด ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิใช่มุ่งที่จะหากินด้วยวิธีการใดๆ ใครอยากหากินขอให้ลาออกจากตำแหน่งไปทำการค้าดีกว่า เพราะว่าถ้าทำผิดพลาดไปแล้วบ้านเมืองเราล่มจม และเมื่อบ้านเมืองของเราล่มจมแล้ว เราอยู่ไม่ได้ ก็เท่ากับเสียหมดทุกอย่าง...”

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่คณะผู้บริหารงานเร่งรัดพัฒนาชนบทระดับผู้ว่าราชการจังหวัด
ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน
วันศุกร์ที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๒






“...คนทุกคน ไม่ว่าชาวกรุงหรือชาวชนบท ไม่ว่ามีการศึกษามากหรือน้อยอย่างไร ย่อมมีจิตใจเป็นอิสระ มีความคิดเห็น มีความพอใจ มีรสนิยม เป็นของตนเอง ไม่ชอบการบังคับ นอกจากนั้น ยังจะมีขนบธรรมเนียม มีแบบแผนในความประพฤติปฏิบัติเฉพาะเหล่าเฉพาะถิ่นอีกด้วย การที่ท่านจะนำสิ่งต่างๆ ไปมอบให้หรือไปแนะนำ สั่งสอนโดยรีบร้อนให้ได้ผลทันใจ บางทีจะรู้สึกว่าขลุกขลักติดขัดไม่น้อย อย่างเช่น จะนำหลักวิชาโภชนาการไปแนะนำคนในชนบทอาจยังไม่ยอมรับ ไม่ยอมบริโภคตามคำแนะนำของท่านทันทีทันใด ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อฟังหรือขัดขืน แต่อาจเป็นการขัดกับความเคยชินและความนิยมของเขาที่มีอยู่ก่อน ท่านไม่ควรให้ปัญหาอย่างนี้ เป็นสาเหตุให้เกิดความไม่พอใจ ขัดใจ หรือท้อถอยขึ้น เพราะจะทำให้งานทุกอย่างหยุดชะงักและล้มเหลว ควรอย่างยิ่งที่จะต้องอดทดและพยายามทำหน้าที่ต่อไป ด้วยปัญญา ด้วยความปรารถนาดีและความรอยคอบสุขุม เมื่อได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ด้วยความหวังดีและบริสุทธิ์ใจโดยถูกต้องแล้ว ถึงหากจะได้ผลน้อยไป ล่าช้าไปบ้าง ก็ควรจะพอใจแล้ว คนทุกคน ตมปรกติย่อมมีความจริงใจเชื่อใจในกันและกัน ถ้าท่านปฏิบัติงานปฏิบัติตนถูกต้องโดยความบริสุทธิ์ใจและจริงใจต่อผู้อื่นแล้ว จะทำงานให้บรรลุความสำเร็จได้แน่นอน...”




พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร และอนุปริญญาบัตร
แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล
วันเสาร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๒๐







“....ได้พูดถึงการปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก สองอย่างนี้ต้องทำเข้าคู่กัน ได้ทำตัวอย่างให้ดูที่จังหวัดนครนายก* เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ได้ทำเป็นเขื่อนกั้นน้ำสำหรับชะลอน้ำ ไม่ใช่เขื่อนกั้นน้ำใหญ่ ๆ หรือเขื่อนเล็ก ๆ แต่ว่าเป็นฝายเล็ก ๆ ในบริเวณนั้นมีฝายชะลอน้ำ ๓๕ ตัว แต่ค่าทำฝาย ๓๕ ตัวนี้ คนอาจจะนึกว่า ๓๕ ล้าน ไม่ใช่ ๒ แสนบาททำได้ ๓๕ ตัว ยังไม่ได้เห็น แต่ว่ากล้าที่จะยืนยันว่าได้ผล ถ้าใครสนใจไปดูได้ที่ใกล้บ้านบุ่งเข้ อำเภอบางพลี จังหวัดนครนายก ไปดูฝายชะลอน้ำ ๓๕ ตัวนี้ ไปดูว่าป่าจะใหญ่ขึ้นอย่างไร เพิ่งเสร็จมาไม่กี่เดือน จะเห็นว่าป่านั้นเจริญ ไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว มันขึ้นเอง...”

* โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าโดยฝายต้นน้ำลำธารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านบุ่งเข้ ตำบลหนองแสงอำเภอบางพลี จังหวัดนครนายก มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดินและชั้นบรรยากาศโดยรอบ โดยการสร้างฝายกั้นน้ำ เพื่อชะลอการไหลของกระแสน้ำตามร่องน้ำลำธารน้ำที่ถูกเก็บกักไว้หลังฝายจะไหลบน ผิวดินและซึมลงใต้ดิน นอกจากนั้นยังสามารถกระจายน้ำที่ยังขังอยู่หลังฝาย ไปยังพื้นที่รอบๆ โดยทางคูน้ำเล็ก ๆ ที่ขุดขึ้นเพื่อขยายพื้นที่ชุ่มชื้นให้กว้างออกไป ในบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวย ก็จะกักเก็บน้ำด้วยวิธีดังกล่าวเป็นปริมาณมาก เพื่อใช้ในกิจการขยายเขตความชุ่มชื้น โครงการนี้จะเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป


พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๗







“...มาเร็ว ๆ นี้ โครงการต่าง ๆ โรงงานเกิดขึ้นมามาก จนกระทั่งคนนึกว่าประเทศไทยนี้ จะเป็นเสือตัวเล็ก ๆ แล้วก็เป็นเสือตัวโตขึ้น เราไปเห่อว่าจะเป็นเสือ...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐







“...ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้ หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้น บางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐







“...มีพ่อค้าคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาทำโรงงาน สำหรับทำสับปะรดกระป๋อง เขาลงทุนเป็นล้าน จำไม่ได้แล้วกี่ล้าน เพื่อสร้างโรงงาน การลงทุนมากอย่างนั้น บอกให้เขาทราบว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะว่าเคยทำโรงงานเล็ก ๆ ที่ทางภาคเหนือ ใช้เงินสามแสนบาท เพื่อที่จะเอาผลิตผลของชาวบ้านชาวเขามาใส่กระป๋อง แล้วขายก็ได้ผล เป็นโรงงานเล็กๆ บอกว่าที่เขาลงทุนเป็นล้าน รู้สึกว่าเสี่ยง เขาบอกว่าต้องทำอย่างนั้น เขาก็ลงทุน ทำไปทำมา สับปะรดที่อำเภอบ้านบึง ทางชลบุรีก็มีไม่พอ เมื่อมีไม่พอต้องไปสั่งสับปะรดมาจากปราณบุรี สับปะรดจากปราณบุรีต้องขนส่งมา ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ทำไปทำมาโรงงานก็ล้ม อย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่าทำโครงการอะไร ก็จะต้องนึกถึง ขนาดที่เหมาะสมกับที่เรียกว่าอัตภาพ หรือกับสิ่งแวดล้อม...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐








“...วันนี้พูดถึงวิธีแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบัน วิกฤตการณ์ปัจจุบัน ทางหนึ่งวิธีหนึ่ง สมัยนี้เป็นสมัยที่พูดกันได้ว่า “โลกาภิวัตน์” ก็จะต้องทำตามประเทศอื่นด้วย เพราะว่าถ้าไม่ทำตามประเทศอื่น ตามคำสัญญาที่มีไว้ เขาอาจจะไม่พอใจ ทำไมเขาจะไม่พอใจ ก็เพราะว่าเขาเองมีวิกฤตการณ์เหมือนกัน การที่ประเทศใกล้เมืองไทยในภูมิภาคนี้มีวิกฤติการณ์ด้วย ก็ทำให้เราฟื้นจากวิกฤตการณ์นี้ยากขึ้นและไม่ใช่เฉพาะประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ แม้แต่ประเทศที่ดูยังเจริญรุ่งเรืองดี ก็รู้สึกว่ากำลังจะเดือดร้อนขึ้น เพราะว่า ถ้าไม่แก้ไขวิกฤตการณ์ในมุมไหนของโลก ส่วนอื่นของโลกก็จะต้องเดือดร้อนเหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องพยายามอุ้มชูประชาชนให้ได้มีงานทำ มีรายได้ ก็จะสามารถผ่านวิกฤตการณ์ แต่ถ้าทำแบบที่เคยมีนโยบายมาคือผลิตสิ่งของทางอุตสาหกรรมมากเกินไป ก็จะไม่สำเร็จ โดยที่ในเมืองไทยตลาดมีน้อยลง เพราะคนมีเงินน้อยลง...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐











“...แต่ข้อสำคัญ นักเศรษฐกิจบอกว่าให้ส่งออก ส่งออกไปประเทศอื่น ๆ ซึ่งก็เดือดร้อนเหมือนกัน เขาก็ไม่ซื้อ ถ้าทำผลิตผลทางอุตสาหกรรมและไม่มีผู้ซื้อก็เป็นหมันเหมือนกัน เราอาจจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี แต่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ ก็มีอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพสุดยอดทีเดียว ที่เกิดมีวิกฤตการณ์ขึ้นมาก็เพราะว่าขยายการผลิตมากเกินไป และไม่มีใครซื้อ เพราะไม่มีใครมีเงินพอที่จะซื้อ แต่ท่านผู้ที่ชอบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ อาจจะไม่ค่อยพอใจ ต้องถอยหลังเข้าคลองจะต้องอยู่อย่างระมัดระวัง และต้องกลับไปทำกิจการที่อาจจะไม่ค่อยซับซ้อนนัก คือใช้เครื่องมืออะไรที่ไม่หรูหรา แต่ก็อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่จะถอยหลังเพื่อที่จะก้าวหน้าต่อไป ถ้าไม่ทำอย่างที่ว่านี้ก็จะแก้วิกฤตการณ์นี้ยาก...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐










“...เราเลยบอกว่า “ถ้าจะแนะนำก็แนะนำได้ ต้องทำแบบ “คนจน” เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมากเราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้น ที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔











“...แต่ถ้าเรามีการบริหารที่เรียกว่าแบบคนจนแบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป แต่ถ้าเราใช้ตำราแบบคนจน ใช้ความอะลุ้มอล่วยกัน ตำรานั้นไม่จบ เราจะก้าวหน้าเรื่อย ๆ ..”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔






















“...ความจริงประเทศไทยนี้ก้าวหน้ามามากแล้ว และก็ก้าวหน้ามาอย่างสม่ำเสมอ ไม่เร็วเกินไปไม่ช้าเกินไป...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔














“...แต่เรื่องที่สำคัญก็คือ การทำมาหากินของประชาชนคนไทย ซึ่งต้องให้มีความสะดวกสบาย มีความปลอดภัย มีการปกครองที่มีความเป็นธรรม...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔













“...นักเศรษฐกิจ นักการค้า นักการธนาคารทั้งหลายก็ย่อมทราบดีว่าบางคนมีเงินเป็นร้อย ๆ ล้าน แต่ดำเนินกิจการอย่างไม่ถูกต้อง ก็จะหมดตัวภายในไม่กี่ปีก็ได้ เมืองไทยสร้างสมบารมีมาเป็นร้อย ๆ ปี ถ้าไม่ระวังดี ๆ ภายในสองสามปีก็หมดตัวได้เหมือนกัน แต่หมดตัวอย่างนี้แล้ว หมายความว่าไม่มีที่อยู่แล้วก็ไม่สามารถที่จะกลับคืนมาแน่ เราทุกคนต้องการมีความสุขความสบาย เราจึงต้องปฏิบัติในสิ่งที่จะทำให้มีความสุข ความสบาย คือสะสมความดี สะสมบารมี...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๘














“...แต่กลับทำให้เกิดความหนักใจอยู่เหมือนกัน ว่าทำงานมาเป็นเวลาถึง ๔๗ ปีกว่าแล้วสภาพหรือสถานการณ์ของประเทศก็ยังมีความยุ่งยากมิใช่น้อยในทุกด้าน ในด้านการทำมาหากินก็ตาม ในด้านความเป็นอยู่ก็ตาม หรือในด้านระเบียบในการปกครองหรือในการอาชีพ แม้สถานะทางความมั่นคงก็ยังไม่ดีตามที่ควรจะเป็น ข้อนี้ก็เป็นความหนักใจ เพราะหมายความว่า งานที่ทำมานั้น แม้มีผลก็ตาม แต่ยังไม่พอ จะต้องให้มีผลดียิ่งขึ้นเพื่อที่จะให้ประเทศมีความมั่นคง มีความผาสุก ราบรื่นอย่างเต็มที่ แต่ถ้าดูอีกทางหนึ่ง ชีวิตของคนเราก็ตาม ชีวิตของหมู่คณะ หรือประเทศชาติก็ตาม ก็ย่อมต้องประสบความเจริญ และความเสื่อม สลับกันไปเป็นธรรมดา ทุกคนก็ทราบดีว่าในชีวิตของแต่ละคน ก็ผ่านเวลาที่เป็นสุขและบางทีก็มีความทุกข์ อันนี้ประเทศชาติก็เป็นเช่นเดียวกัน ก็มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง แต่ก็ขออย่าให้มากเกินไป เพราะว่าถ้ามากเกินไป แม้สุขมากเกินไป ก็ทำให้คนเราไม่สบายได้เหมือนกัน แต่ว่าถ้าทุกข์มาก ความเป็นอยู่ของคนเรา อยู่ไม่ได้ มันตรอมใจ ไม่มีกำลังใจ ลงท้ายก็ล่มจม...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

















“...ชัยชนะของประเทศนี้ โดยงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นก็คือ ความสงบ ไม่เป็นบอสเนีย เป็นไทยแลนด์ เป็นเมืองไทยที่จะมีความเจริญก้าวหน้า จนเป็นชัยชนะของการพัฒนา ตามที่ได้ตั้งชื่อ “มูลนิธิชัยพัฒนา” ชัยของการพัฒนานี้มีจุดประสงค์ คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดี...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๗
















“...การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ โดยมากคนก็จะใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐
















“...ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถพ้นวิกฤตการณ์ได้ดีกว่าหลายประเทศ เพราะแผ่นดินนี้ยังเหมาะสมกับความเป็นอยู่ได้ อย่างที่เคยพูดมาหลายปีแล้วว่า ภูมิประเทศยัง “ให้” คือเหมาะสม แต่ความเป็นอยู่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องอยู่อย่างประหยัด และต้องไปในทางที่ถูกต้อง...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐





















“...จะต้องขอถือโอกาสนี้ มีข้อสังเกตว่าทั่วโลก เราเปิดวิทยุก็ตาม โทรทัศน์ก็ตาม เราก็จะเห็นทุกวันว่าเขามีการฆ่ากัน เขามีการทำลายกัน ไม่มีวันที่เว้นที่จะไม่มีความเดือดร้อนอย่างรุนแรง มิใช่ภัยธรรมขาติเท่านั้นเอง แต่ภัยจากสงคราม ภัยจากความเบียดเบียนกัน ทุกวันไม่มีเว้น แต่ว่าในประเทศไทย ก็ยังคงสงบตามสมควร ขอให้ทุกคนช่วยกัน อย่าเบียดเบียนกัน ก็จะทำให้เรายังคงรักษาความสงบได้ จะเรียกว่าตามอัตภาพของเรา คือประเทศไทยเราอาจไม่เป็นประเทศที่รุ่งเรืองที่สุดในโลก หรือรวยที่สุดในโลก หรือฟู่ฟ่าที่สุดในโลก แต่ก็ขอให้เมืองไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มีความสงบได้ เพราะว่าในโลกนี้หายากแล้ว เราทำเป็นประเทศที่สงบ ประเทศที่มีคนช่วยเหลือซึ่งกันและกันจริง ๆ เราจะเป็นที่หนึ่งในโลกในข้อนี้ แล้วรู้สึกว่าที่หนึ่งในโลกในข้อนี้จะดีกว่าผู้อื่น จะดีกว่าคนที่รวยที่สุดในโลก จะดีกว่าคนที่เก่งในทางอะไรก็ตามที่สุดในโลก ถ้าเรามีความสงบแล้วมีความสบาย ความมั่นคงที่สุดในโลกนั้นรู้สึกจะไม่มีใครสู้เราได้...”

พระราชดำรัส
ในโอกาสที่ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์
นำคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และนักเรียนทุนพระราชทานเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันจันทร์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น