วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

ความมีเหตุผล


“...ทุกคนจำเป็นต้องหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาการกระทำของตน ให้รอบคอบอยู่เสมอ ระมัดระวังทำการทุกอย่างด้วยเหตุผล ด้วยความมีสติ และด้วยความรู้ตัว เพื่อเอาชนะความชั่วร้ายทั้งมวลให้ได้โดยตลอด และสามารถก้าวไปถึงความสำเร็จที่แท้จริง ทั้งในการงานและการครองชีวิต...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร
แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา ๒๕๑๕
วันศุกร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๑๖





“...ท่านจะต้องทำความคิดและจิตใจให้เปิดกว้าง แต่หนักแน่น มีเหตุผล มีวิจารณญาณ พร้อมกันนั้น ก็ต้องมีความจริงใจ เห็นใจ และเมตตาปรองดองกัน โดยถือประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันเป็นวัตถุประสงค์เอก. ที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง จะต้องพยายามขจัดความดื้อรั้น ถือตัว ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนน้อยออกให้ได้ ไม่ปล่อยให้เข้ามาครอบงำทำลายความคิดจิตใจที่ดีงามของตน แล้วท่านจะสามารถปฏิบัติการงานทุกอย่างได้ด้วยความราบรื่น เบิกบานใจ อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จตามที่ปรารภปรารถนาทุกสิ่งในที่สุด...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันเสาร์ที่๑๒กรกฎาคม๒๕๒๙





“...ถ้าแต่ละคนมีหน้าที่ทั้งในหน้าที่ที่มี ทั้งหน้าที่ที่ได้ตั้งไว้กับตัว หรืออาชีพทั้งในหน้าที่ที่มีในทางที่เป็นคนไทยเป็นมนุษย์ ที่จะต้องมีความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ถ้ามีความคิดที่เที่ยงตรง ที่มีเหตุผล ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเห็นด้วย เห็นพ้องกันเสมอ ไม่หมายความว่าถ้าใครพูดอะไรไปจะต้องถือว่าใช่แล้ว ยกมือแบบในที่เขาล้อกันในสภา มีความคิดความเห็นต่างกันได้ แต่ถ้าพูดกันด้วยเหตุผลแล้ว ไม่ใช่มิจฉาทิฐิคือไม่ถือเอาเหตุผลลับๆ ล่อๆ มาใช้ เชื่อว่าเราอยู่ด้วยกันได้อย่างดี...”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะผู้แทนสมาคมองค์การเกี่ยวกับศาสนา
ครู นักเรียนโรงเรียนต่างๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยในโอกาสเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗







“... การคิดการปฏิบัติให้ถูกให้ดีนั้น ก็คือการคิดและปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการ หลักวิชา หลักเหตุผลและหลักสุจริตธรรม ผู้มิ่งหมายจะสร้างสรรค์ประโยชน์และความเจริญ จึงควรพยายามปฏิบัติฝึกฝนตนเองให้มีความคิดจิตใจที่เที่ยงตรง และความมั่นคงเป็นกลาง เป็นอิสระจากอคติ ซึ่งมีหลักฝึกหัดที่สำคัญประกอบส่งเสริมกันอยู่สองข้อ ข้อแรก ให้หัดพูดหัดทำหัดคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทพลาดผิด และอคติต่างๆ มิให้เกิดขึ้น. ข้อสอง ให้หัดใช้ปัญญาความฉลาดรู้เป็นเครื่องวิเคราะห์และวินิจฉัยเรื่องราว ปัญหาต่างๆ ทุกอย่างที่จะต้องขบคิดแก้ไข เพื่อ ช่วยให้เห็นเหตุ เห็นสาระได้ชัด และวินิจฉัยได้ถูกต้องเที่ยงตรงว่าข้อที่เท็จ ที่จริง ที่ถูก ที่ผิด ที่เป็นประโยชน์ ที่มิใช่ประโยชน์อยู่ตรงไหน. สติ และปัญญาที่ได้ฝึกฝนใช้จนคล่องแคล่วเคยชินแล้ว จะรวมเข้าเป็นสติปัญญาที่จะส่งเสริมให้บุคคลสามารถคิดอ่านและประพฤติปฏิบัติ ได้ถูก ได้ดี ให้เกิดประโยชน์แก่ตน แก่ส่วนรวมได้สมบูรณ์พร้อมทุกส่วน...”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
วันเสาร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๓



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น